RSS

กระชาย กระชายดำ(Kaempfer) - สมุนไพรไทยแก้บิด ท้องเดิน ท้องร่วง โรคกระเพาะ

กระชาย กระชายดำ - สมุนไพรไทยแก้บิด ท้องเดิน ท้องร่วง โรคกระเพาะ

ชื่อสามัญ Kaempfer

ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.

วงศ์ Zingiberaceae

ชื่อพื้นเมือง  กระชายดำ กะแอน ขิงทราย (มหาสารคาม) จี๊ปู ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ระแอน (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ละแอน (ภาคเหนือ)  ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ)


กระชายดำ เป็นพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตร้อนบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ตามบริเวณป่าดิบร้อนชื้น แหล่งปลูกที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปคือ เขตปลูกอำเภอนาแห้ว อำเภอด่านซ้าย และภูเรือ จังหวัดเลย ปัจจุบันปลูกมากในเขตจังหวัดเลย เป็นพืชที่ทำรายได้ให้กับผู้ปลูกสูงมากจึงมีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังแหล่งอื่นๆ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
     ไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ รากอวบ รูปทรงกระบอกหรือรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-10 ซม. ออกเป็นกระจุก ผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว ส่วนที่อยู่เหนือดินเป็นใบ มี 2-7 ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี กว้าง 5-12 ซม. ยาว 12-50 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือแหลม ขอบเรียบ เส้นกลางใบ ก้านใบ และกาบใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูนเป็นสัน ก้านใบเรียบ ยาว 7-25 ซม. กาบใบสีชมพู ยาว 7-25 ซม. ระหว่างก้านใบและกาบใบมีลิ้นใบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอดระหว่างกาบใบคู่ในสุด ยาวประมาณ 5 ซม. แต่ละดอกมีใบประดับ 2 ใบ สีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน รูปใบหอก กว้างประมาณ 8 มม. ยาว 3.5-4.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.7 ซม. ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 6 ซม. ปลายแยกเป็น 3 กลีบ รูปใบหอก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบใหญ่ 1 กลีบ กว้างประมาณ 7 มม. ยาวประมาณ 1.8 ซม. อีก 2 กลีบ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน แต่ 5 อัน เปลี่ยนไปมีลักษณะเหมือนกลีบดอก โดย 2 กลีบบนสีชมพู รูปไข่กลับ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 1.2 ซม. ยาวประมาณ 1.7 ซม. อีก 3 กลีบล่างสีชมพูติดกันเป็นกระพุ้ง กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 2.7 ซม. ปลายแผ่กว้างประมาณ 2.5 ซม. มีสีชมพูหรือม่วงแดงเป็นเส้นๆ อยู่เกือบทั้งกลีบโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกระเปาะและปลายกลีบ มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 อัน ก้านชูอับเรณูหุ้มก้านเกสรเพศเมีย ผลแก่แตกเป็น 3 เสี่ยง เมล็ดค่อนข้างใหญ่

พันธุ์
     ในปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมและจำแนกพันธุ์อย่างเป็นทางการ แต่หากจำแนกตามลักษณะของสีของเนื้อหัว พอจะแยกได้ 3 สายพันธุ์ คือ
• สายพันธุ์ที่มีเนื้อหัวสีดำ
• สีม่วงเข้ม
• สีม่วงอ่อนหรือสีน้ำตาล
ส่วนใหญ่แล้ว จะพบกระชายที่มีสีม่วงเข้มและสีม่วงอ่อน ส่วนกระชายที่มีสีดำสนิทจะมีลักษณะหัวค่อนข้างเล็ก ชาวเขาเรียกว่า กระชายลิง ซึ่งมีไม่มากนักจัดว่าเป็นกระชายที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการ ของตลาด

สารที่สำคัญ
          ทั้งส่วนรากและส่วนต้น ประกอบด้วยสาร alpinetin, pinocembrin, cardamonin,boesenbergin A, pinostrobin และน้ำมันหอมระเหย และในส่วนรากยังพบ chavicinic acid อีกด้วย

สรรพคุณ
เหง้าใต้ดิน มีรสเผ็ดร้อนขม แก้ปวดท้อง มวนในท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด แก้กามตายด้าน เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร

เหง้าและราก แก้บิดมูกเลือด เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ ใช้เป็นยาภายนอกรักษาขี้กลาก

ใบ บำรุงธาตุ แก้โรคในปาก คอ แก้โลหิตเป็นพิษ ถอนพิษต่างๆ

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้

แก้ท้องร่วงท้องเดิน
ใช้เหง้าสด 1-2 เหง้า ตำหรือฝนเหง้าที่ปิ้งไฟแล้วกับน้ำปูนใส หรือคั้นให้ข้นๆ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง

แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ปวดมวนในท้อง
ใช้เหง้าและราก ประมาณครึ่งกำมือ (สดหนัก 5-10 กรัม, แห้ง 3-5 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน

แก้บิด
ใช้เหง้าสด 2 เหง้า บดให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส คั้นเอาแต่น้ำดื่ม

เป็นยาบำรุงหัวใจ
ใช้เหง้าและรากกระชายปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด หั่นตากแห้ง บดเป็นผง ใช้ผงแห้ง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน ½ ถ้วยชา รับประทานครั้งเดียว

ยารักษาริดสีดวงทวาร
ใช้เหง้าสด 60 กรัม ประมาณ 6-8 เหง้า ผสมกับเนื้อมะขามเปียก 60 กรัม เกลือแกง 3 ช้อนแกง ตำแล้วต้มกับน้ำ 6 แก้ว เคี่ยวให้เหลือ 2 แก้ว รับประทานครั้งละ ½ แก้ว ก่อนนอน รับประทานติดต่อกัน 1 เดือน ริดสีดวงทวารควรจะหาย

ที่มา: http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_07_1.htm

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

กระเจี๊ยบแดง(Roselle) - สมุนไพรไทยลดไขมันในเส้นเลือด

กระเจี๊ยบแดง - สมุนไพรไทยลดไขมันในเส้นเลือด


ชื่อสามัญ Jamaican Sorel, Roselle
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa Linn.
วงศ์ Malyaceae
ชื่อพื้นเมือง กระเจี๊ยบ บางแห่งเรียก กระเจี๊ยบเปรี้ยว, เหนือ ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง, ตาก ส้มตะแลงเครง ส้มปู, เชียงใหม่ แกงแดง


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชล้มลุก เป็นไม้พุ่ม สูง 50-180 ซม. มีหลายพันธุ์ ลำต้นสีม่วงแดง ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ 3 หรือ 5 แฉก กว้างและยาวใกล้เคียงกัน 8-15 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีชมพูหรือเหลืองบริเวณกลางดอกสีม่วงแดง เกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ผลเป็นผลแห้ง แตกได้ มีกลีบเลี้ยงสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มไว้
ใบ เป็นใบเดี่ยว ขอบใบเว้าลึกเป็น 3 แฉก หรือขอบใบเว้าเล็กน้อย ก้านใบสีม่วงแดงมีขนาดยาว
ดอก เดี่ยว ออกตามงามใบ ก้านดอกสั้น มีริ้วประดับเป็นแฉก ๆ 10 แฉก โคนกลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดก้น เป็นรูปถ้วย ปลายกลีบแยกออกเป็น 3 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ บางพันธุ์มีสีเหลืองอ่อน บางพันธุ์มีสีชมพู
ผล รูปไข่ป้อมมีจงอยสั้น ๆ

ส่วนที่ใช้
ริ้วประดับ กลีบรองกลีบดอกสีแดงอมม่วง

สารที่สำคัญ
Albiscetin, gossypetin, กรด malic, citric, tartaric, oxalic มี fatty acids คือ palmatic, stearic acid และอื่น ๆ

สรรพคุณ
กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล
1.เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดน้ำหนักด้วย
2.ลดความดันโลหิตได้โดยไม่มีผลร้ายแต่อย่างใด
3.น้ำกระเจี๊ยบทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง
4.ช่วยรักษาโรคเส้นโลหิตแข็งเปราะได้ดี
5.น้ำกระเจี๊ยบยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นการช่วยลดความดันอีกทางหนึ่ง
6.ช่วยย่อยอาหาร เพราะไม่เพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะ
7.เพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ
8.เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพราะมีกรดซีตริคอยู่ด้วย

ใบ  แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด ยากัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำคอ ให้ลงสู่ทวารหนัก

ดอก  แก้โรคนิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพราะปัสสาวะ ขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด กัดเสมหะ ขับเมือกในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก

ผล  ลดไขมันในเส้นเลือด แก้กระหายน้ำ รักษาแผลในกระเพาะ

เมล็ด  บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด

     นอกจากนี้ได้บ่งสรรพคุณโดยไม่ได้ระบุว่าใช้ส่วนใด ดังนี้คือ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำไส้ ลดไขมันในเลือด บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน
     นอกจากใช้เดี่ยวๆ แล้ว ยังใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรอื่น ใช้ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด

ขนาดและวิธีการใช้
     ริ้วประดับและกลีบเลี้ยงมีรสเปรี้ยว ช่วยเพิ่มความเป็นกรดให้แก่ปัสสาวะ นอกจากนั้นใช้ขับละลายนิ่ว ที่เกิดจากต่าง ๆ เช่น เกิดจาก Calcium oxalate
ใช้ผงกระเจี๊ยบแห้ง 3 กรัม ชงน้ำเดือด 1 แก้ว (240 ซีซี) ดื่มแต่น้ำสีแดง วันละ 3 ครั้ง 7 วันถึง 1 ปี ปรากฏว่าได้ผลดี

ที่มา: http://www.utts.or.th/html/herb/herb01.html

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

แพทย์แผนไทยประยุกต์(นักการแพทย์แผนไทย) คืออะไร

แพทย์แผนไทยประยุกต์(นักการแพทย์แผนไทย) คืออะไร


     แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือ นักการแพทย์แผนไทย คือ บุคลากรทางการแพทย์สาขาหนึ่ง เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ ซึ่งต้องการพัฒนาและยกฐานะของการแพทย์แผนไทยโบราณให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์และมีหลักวิชาการรองรับในการอธิบาย อาจกล่าวได้ว่า แพทย์แผนไทยประยุกต์ เป็นบุคลากรการแพทย์สายพันธุ์ใหม่ของสังคมไทย ที่ครึ่งหนึ่งขององค์ความรู้จะต้องร่ำเรียนตามหลักวิชาการทางการแพทย์แผนตะวันตก ผสมผสานกับคัมภีร์แพทย์แผนโบราณของไทย สามารถใช้เครื่องมือทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้บางอย่าง (ตามที่ข้อกฎหมายกำหนด 13 รายการ) สามารถวินิจฉัยตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน เพียงแต่เมื่อถึงขั้นตอนในการรักษานั้น ต้องรักษาด้วยวิธีการการแพทย์แผนไทยอาทิการใช้ยาสมุนไพร นวด อบ ประคบ นอกจากนั้น ยังสามารถทำคลอดและให้การบำรุงแม่และทารก ตามแนวทางการแพทย์แผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

     แพทย์แผนไทยประยุกต์ จะต้องสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยเฉพาะเสียก่อน จึงสามารถปฏิบัติงานในโรงพยาบาล หรือให้การรักษาแก่ผู้ป่วยได้ การสอบใบประกอบโรคศิลปะนั้น จะต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์เท่านั้น จึงจะเป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่สมบูรณ์และถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีสิทธิ์ที่จะสอบใบประกอบโรคศิลปะแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย และผดุงครรภ์

     ส่วนตัวคิดว่า แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือ นักการแพทย์แผนไทย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เริ่มเป็นที่ต้องการของวงการแพทย์ไทยมากยิ่งขึ้น โดยในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) ในครั้งนั้นได้ทรงปรารภว่าวัดพระเชตุพนฯ เป็นแหล่งรวบรวมตำราแพทย์แผนไทยอยู่แล้ว ทำไมไม่จัดให้มีโรงเรียนสอนการแพทย์แผนไทยในวิชาเวชกรรม ผดุงครรภ์ หัตถเวช และเภสัชกรรม เพื่อเป็นวิทยาทานให้แก่ผู้สนใจต้องการศึกษา ทำให้คณะกรรมการวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์แผนไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ ได้รับสนองพระราชปรารภและจัดทำหลักสูตรโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้นในนาม "โรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย"

          ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๒ การแพทย์แผนไทยได้เข้าสู่ระบบราชการ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งศูนย์การประสานงานการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทยขึ้น เป็นองค์กรประสานงานการพัฒนาการแพทย์แผนไทย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๖ จึงได้จัดตั้งเป็นสถาบันการแพทย์แผนไทยขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ เป็นหน่วยงานระดับสูงกว่ากอง สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และได้รับการรับรองฐานะอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ต่อมาโดยพระราชบัญญัติคุ้มครอง ส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ๒ ก. ลงวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๔ หน่วยงานใหม่ที่เกิดขึ้นมีชื่อว่า "สถาบันการแพทย์แผนไทย"

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/การแพทย์แผนไทย

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

สาระความรู้เรื่องการผดุงครรภ์ไทย(การผดุงครรภ์แผนโบราณ)

สาระความรู้เรื่องการผดุงครรภ์ไทย(การผดุงครรภ์แผนโบราณ)


     การผดุงครรภ์ไทย หรือ การผดุงครรภ์แผนโบราณ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ในหลักวิชาการแพทย์แผนไทย เกี่ยวกับการดูแลมารดา และทารก ตั้งแต่ระยะเริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอด ดังนั้น แพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณ หรือที่เรียกกันว่า หมอตำแย จึงมีหน้าที่ ให้คำแนะนำ ดูแล แก้ไข ป้องกันอาการต่างๆ ของผู้หญิง ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จนครบกำหนดคลอด ทำหน้าที่ทำคลอด ตลอดจน ดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอด ทารกแรกเกิด ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย

     แพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสตรี เมื่อเริ่มตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด การทำคลอด และการดูแลมารดาและทารกหลังคลอด หลักวิชาการแพทย์แผนไทยมีรายละเอียดทั้งหมดในคัมภีร์ปฐมจินดา และบางตอน ของคัมภีร์มหาโชติรัต โดยเฉพาะในคัมภีร์ปฐมจินดา มีรายละเอียดของการตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอด และโรคต่างๆ อันอาจเกิดกับทารก ที่คลอดออกมา มีด้วยกัน 2 เรื่องหลักๆ ได้แก่

1. การปฏิสนธิ การตั้งครรภ์ และการคลอด   


     หลักวิชาการแพทย์แผนไทยอธิบายว่า สตรีนั้นตั้งแต่กำเนิดมาจากครรภ์มารดา มีความแตกต่างจากเพศชายในเชิงสรีระอยู่ ๔ ประการ คือ มีถันประโยธร (เต้านม) จริตกิริยา (การแสดงออกของร่างกาย) ที่ประเวณี (ช่องคลอด) และต่อมโลหิตระดู (มดลูก)

     ผู้เป็นแพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณ จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องกายวิภาค และสรีระของสตรีเป็นอย่างดี จึงจะรู้ และเข้าใจในหลักวิชาการผดุงครรภ์ไทย โดยอาจแบ่งออกเป็นความรู้ในสิ่งต่างๆ คือ

1.1. ครรภ์วาระกำเนิด

     ครรภ์วาระกำเนิด หมายถึง การตั้งครรภ์ เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิ ไปจนถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เมื่อสตรีเริ่มตั้งครรภ์ จะมีความเปลี่ยนแปลงทางกายที่แสดงว่าตั้งครรภ์ อันได้แก่ เส้นเอ็นที่ผ่านหน้าอกนั้นมีสีเขียวเห็นได้ชัดเจนขึ้น หัวนมสีดำคล้ำขึ้น และมีเม็ดขึ้นรอบๆ หัวนม

1.2. ครรภ์รักษา

     ครรภ์รักษา หมายถึง ความเจ็บป่วยไม่สบาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับสตรีในระหว่างการตั้งครรภ์ ตั้งแต่เดือนแรกถึงเดือนที่สิบ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้การตั้งครรภ์นั้นตกไปได้ คัมภีร์ปฐมจินดาให้รายละเอียดเกี่ยวกับไข้หรืออาการต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้น ในระหว่างตั้งครรภ์เดือนแรก จนถึงเดือนสุดท้ายไว้

1.3. ครรภ์วิปลาส

     ครรภ์วิปลาส หมายถึง การตั้งครรภ์ที่ตกไป หรือบางตำราว่า หมายถึง การแท้งลูก ซึ่งตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยว่า อาจเกิดจากสาเหตุ 4 ประการ คือ

  • สตรีมีความต้องการทางเพศสูง 
  • กินของแสลง 
  • โกรธจัด โมโหร้าย ปากจัด 
  • ถูกกระทำโดยภูตผีหรือต้องคุณไสย  

1.4. ครรภ์ปริมณฑล

     ครรภ์ปริมณฑล หมายถึง การดูแลพยาบาลสตรีที่ตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ ๓ เดือนเป็นต้นไปจนกระทั่งคลอด คัมภีร์ปฐมจินดาได้ให้ยาแก้ความไม่สบาย หรือไข้ อันอาจเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว จนถึงหลังคลอดแล้วหลายขนาน เช่น ยาแก้โรคบิดในระหว่างตั้งครรภ์ ยาแก้พรรดึก (ท้องผูก ก้อนอุจจาระแข็งเหมือนขี้แพะ) ยาแก้ทารกในท้องดิ้น ยาแก้คลอดลูกยาก ยาแก้หญิงคลอดลูกแล้วมดลูกไม่เข้าอู่ ยาแก้หญิงคลอดลูกแล้วรกขาดในครรภ์

1.5. ครรภ์ประสูติ

     ครรภ์ประสูติ หมายถึง การคลอดลูก การดูแลช่วยเหลือมารดาขณะคลอด รวมถึงการดูแลทารก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๑๒ เดือน ช่วงเวลาที่ทารกคลอดออกจากครรภ์มารดา ซึ่งถือเป็นฤกษ์ยามดีนั้น โบราณเรียกว่า "(เวลา) ตกฟาก" เมื่อคลอดแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือ และห่อสายสะดือไว้ ส่วนรกจะใส่ภาชนะ แล้วนำไปฝัง

2. การบริบาลสตรีหลังคลอด 


     ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งในหลักวิชาการผดุงครรภ์ไทย คือ การดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอดด้วยการ "อยู่ไฟ" โบราณเชื่อว่า ในระยะหลังคลอดใหม่ๆ ทั้งทารกและมารดาอาจเกิดอันตรายได้ง่าย จึงให้มารดาหลังคลอดอยู่ไฟ เชื่อว่า ความร้อนเป็นสิ่งบริสุทธิ์ สามารถเผาผลาญสิ่งที่เป็นโทษได้ การอยู่ไฟจะช่วยให้เลือดลมของมารดาหลังคลอดไหลเวียนดีขึ้น ลดการเกร็งและปวดเมื่อย ของกล้ามเนื้อ ช่วยให้แผลฝีเย็บหายเร็วขึ้น ช่วยลดอาการปวด อันเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก และอาการเจ็บปวดจากการคัดเต้านม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี โบราณเรียกช่วงเวลาในการอยู่ไฟว่า "เขตเรือนไฟ" ผู้หญิงไทยสมัยโบราณนิยมอยู่ไฟ ๗ วันหลังคลอดท้องแรก แต่หลังคลอดท้องที่ ๒, ๓ และ ๔ อาจอยู่ไฟนานขึ้น ๘ - ๒๐ วัน ทั้งนี้ระยะเวลาของการอยู่ไฟ จำนวนวัน นิยมเป็นเลขคี่ เพราะถือเป็นเลขสิริมงคลกับมารดาหลังคลอด

     หลังคลอด ๒ - ๓ วัน จะมีน้ำเหลืองออกจากแผลรก ซึ่งโบราณเรียกว่า "น้ำคาวปลา" เพราะมีกลิ่นคาวจัด น้ำคาวปลาจะออกมาก ราว ๑๐ วัน หลังจากนั้น ก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนเมื่อแผลรกหาย ก็หยุดไป บางคนอาจมีน้ำคาวปลาอยู่นานถึง ๑ เดือน ดังนั้นหลังคลอด แพทย์แผนไทยมักให้มารดากินยาขับน้ำคาวปลา และยาระบาย เพื่อขับล้างเอาของเสีย และสิ่งเน่าเสีย อันเกิดจากการคลอดบุตร ออกไปจากร่างกายของมารดาหลังคลอด นอกจากนั้นในช่วงดังกล่าวจะต้องดูแลสุขอนามัยช่องคลอดให้สะอาด ไม่ให้น้ำคาวปลาหมักหมม จนทำให้เกิดการติดเชื้อ ที่เรียกว่า "สันนิบาตหน้าเพลิง" ซึ่งหมายถึง ไข้ที่เกิดในเขตเรือนไฟ

     หลักวิชาการผดุงครรภ์แผนไทยแนะนำว่า มารดาหลังคลอดควรอาบน้ำสมุนไพร หรืออบสมุนไพร เพื่อชำระร่างกายให้สะอาด สดชื่น ดับกลิ่นคาวเลือด ช่วยให้มดลูกกลับเข้าสู่สภาพเดิมเร็วขึ้น และขับน้ำคาวปลา เริ่มต้นด้วยการอาบน้ำร้อนที่ต้มกับใบมะขาม ฝักส้มป่อย และหัวหอม หลังเช็ดตัวให้สะอาดแล้ว จึงใช้ลูกประคบที่ใช้ไพลผสมกับการบูรกดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อแก้อาการปวดเมื่อย อันเกิดจากการคลอดลูก ช่วยขับเหงื่อ และการประคบบริเวณหัวนม เพื่อช่วยเพิ่มน้ำนม และทำให้น้ำนมไหลดีขึ้น

     การอยู่ไฟหลังคลอด จะช่วยให้ท้องอุ่นอยู่เสมอ บรรเทาอาการปวดมดลูก และช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว คนโบราณนิยมใช้ความร้อน จากฟืนไม้สะแกนา เพราะเป็นไม้พื้นบ้าน หาง่าย ติดไฟแล้วคุดี มอดช้า ไม่เปลือง ความร้อนที่ใช้ในการอยู่ไฟ อาจได้จากการทับหม้อเกลือ (หรือการนาบหม้อเกลือ) ซึ่งเป็นการให้ความร้อนแก่เกลือ ที่บรรจุอยู่ในหม้อดิน ห่อด้วยใบพลับพลึง และผ้าขาว แล้วใช้กดหรือนาบตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณท้องและต้นขา การใช้ความร้อน จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยขับน้ำคาวปลา และช่วยลดอาการปวดเมื่อย ของกล้ามเนื้อ จากการคลอดบุตร หรืออาจใช้วิธีการนั่งถ่าน โดยอาจใช้ตัวยาสมุนไพร เผาเอาควันรมร่วมด้วย สมุนไพรที่ใช้ ได้แก่ ผิวมะกรูดแห้ง ว่านน้ำ ว่านนางคำ ขมิ้นอ้อย ชานหมาก ไพล เปลือกต้นชะลูด ผงขมิ้นชัน และใบหมาก วิธีหลังนี้เป็นการใช้ความร้อน เพื่อช่วยให้แผลแห้งเร็ว และยังช่วยสมานแผลจากการคลอด นอกจากนั้นยังอาจใช้ยาช่วย เช่น  ยาช่วยให้มดลูกเข้าอู่ (กลับเข้าที่เดิม หรือกลับสู่สภาพเดิม) ยาบำรุงน้ำนม โดยในเขตเรือนไฟนั้น คนโบราณห้ามกินของแสลง เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี

ที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=33&chap=8&page=t33-8-infodetail06.html

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

ประวัติความเป็นมาของการนวดแผนโบราณ (นวดแผนไทย)

ประวัติความเป็นมาของการนวดแผนโบราณ (นวดแผนไทย)


     การนวดไทย หรือ นวดแผนโบราณ หรือ การนวดแผนไทย เป็นการนวดชนิดหนึ่งในแบบไทย ซึ่งเป็นศาสตร์บำบัดและรักษาโรคแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนไทย โดยจะเน้นในลักษณะการกด การคลึง การบีบ การดัด การดึง และการอบ ประคบ ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ "นวดแผนโบราณ" โดยมีหลักฐานว่านวดแผนไทยนั้นมีประวัติมาจากประเทศอินเดีย และมีการนำเข้ามาในประเทศไทย จากนั้นได้ถูกพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากันกับวัฒนธรรมของสังคมไทย จนเป็นรูปแบบแผนที่เป็นมาตรฐานของไทยและส่งทอดมาจนถึงปัจจุบัน การนวดไทยแบ่งเป็น 2 สาย คือ สายราชสำนักและสายเชลยศักดิ์ ดังนี้
  • การนวดแบบราชสำนัก เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของการนวดนี้คือ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ที่อยู่ในรั้วในวัง ฉะนั้นการนวดจึงถูกออกแบบที่เน้นการใช้นิ้วมือและมือเท่านั้น และท่วงท่าที่ใช้ในการนวดมีความสุภาพเรียบร้อย มีข้อกำหนดในการเรียนมากมาย ผู้ที่เชี่ยวชาญทางวิชาชีพด้านนี้ จะได้ทำงานอยู่ในรั้วในวังเป็นหมอหลวง มีเงินเดือนมียศมีตำแหน่ง
  • การนวดแบบเชลยศักดิ์ เป็นการนวดที่ใช้ในระดับชาวบ้านด้วยท่าทางทั่วไป ไม่มีแบบแผนหรือพิธีรีตองในการนวดมากนัก อีกทั้งยังสามารถใช้อวัยวะอื่นๆ เช่น เข่า ศอก เท้า เพื่อช่วยทุ่นแรงในการนวดได้ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการนวดแบบราชสำนักที่เน้นการใช้มือเพียงอย่างเดียว
สำหรับ ประวัติความเป็นมาของการนวดแผนโบราณ (นวดแผนไทย) นั้น โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการนวดไทยที่เก่าแก่ที่สุด คือ ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยที่ขุดพบในป่ามะม่วง ซึ่งตรงกับสมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งได้จารึกรูปการรักษาโรคด้วยการนวดไว้



     ต่อมาในสมัยอยุธยามีหลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการนวดไทยในปี พ.ศ. 1998 ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งหน้าที่ของแพทย์ตามความชำนาญเฉพาะทาง โดยแยกเป็นกรมต่างๆ เช่น กรมแพทยา กรมหมอยา กรมหมอกุมาร กรมหมอนวด กรมหมอตา กรมหมอวัณโรค โรงพระโอสถ นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดศักดินาและดำรงยศตำแหน่งเป็น หลวง ขุนหมื่น พัน และครอบครองที่นาตามยศและศักดินาที่ดำรง ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมาย "นาพลเรือน" ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นยุคที่การนวดไทยรุ่งเรืองมาก โดยปรากฏในจดหมายเหตุของราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสชื่อ ลา ลู แบร์ ในปีพ.ศ. 2230 ว่า
ในกรุงสยามนั้น ถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มทำเส้นสายยืด โดยให้ผู้ชำนาญทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ แล้วใช้เท้าเหยีบ กล่าวกันว่าหญิงมีครรภ์มักใช้ให้เด็กเหยียบเพื่อให้คลอดบุตรง่ายไม่พักเจ็บปวดมาก
ด้านล่างนี้ เป็นภาพแผนผังแสดงการกดจุดต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งปรากฏที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ นั่นเอง


แผนผังการกดจุดต่างๆ ในร่างกาย ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/การนวดแผนไทย

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

9 คัมภีร์แพทย์แผนไทย

9 คัมภีร์แพทย์แผนไทย
     ถ้ากล่าวถึงคัมภีร์แพทย์แผนไทย ที่รวมรวมสรรพวิทยา กระบวนการทางด้านการแพทย์ในการตรวจ วินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคต่างๆนั้น จะมีดังต่อไปนี้


1. คัมภีร์ที่เกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคโดยทั่วไป ได้แก่
  • คัมภีร์เวชศึกษา กล่าวถึงสาเหตุการเกิดโรค และ วิธีการตรวจโรคต่างๆ
  • คัมภีร์สมุฎฐานวินิจฉัย ซึ่งกล่าวถึงถึงสาเหตุการเกิดโรค โดยอาศัยทฤษฎีธาตุในการวินิจฉัยและพยากรณ์โรค
  • คัมภีร์โรคนิทาน กล่าวถึงสาเหตุของโรค และ ความผิดปกติของธาตุต่างๆ และรสยาต่างๆ
  • คัมภีร์ธาตุวิภังค์ เช่นเดียวกับคัมภีร์โรคนิทาน แต่มีรายละเอียดแตกต่างกัน และรสยาต่างๆ
  • คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ กล่าวถึงสาเหตุการเกิดโรค โดยอาศัยปัจจัยแวดล้อม และปัจจัยภายใน รวมถึงรสยาต่างๆ
2. คัมภีร์ที่กล่าวถึงไข้ ได้แก่
  • คัมภีร์ฉันศาสตร์ กล่าวถึงไข้ โดยใช้ทฤษฎีธาตุ
  • คัมภีร์ตักศิลา กล่าวถึงไข้ต่างๆ
3. คัมภีร์ที่เกี่ยวกับโรคในช่องปากและทางเดินอาหาร ได้แก่
  • คัมภีร์มุขโรค กล่าวถึงโรคในช่องปาก
  • คัมภีร์ธาตุบรรจบ กล่าวถึงโรคในระบบทางเดินอาหาร โดยพิจารณาจากอุจจาระ และใช้ทฤษฎีธาตุ
  • คัมภีร์อุทรโรค กล่าวถึงโรคในช่องท้องและท้องเดินอาหาร
  • คมภีร์อติสาร เช่นเดียวกับคัมภีร์อุทรโรค แต่รายละเอียดแตกต่างกัน
4. คัมภีร์ที่เกี่ยวกับโรคสตรี และการตั้งครรภ์ ได้แก่
  • คัมภีร์ปฐมจินดา กล่าวถึง การปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ ลักษณะสตรีต่างๆ โรคในเด็กแรกเกิด
  • คัมภีร์มหาโชติรัตน์ กล่าวถึงโรคสตรี
5. คัมภีร์ที่กล่าวถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และทางเดินปัสสาวะ ได้แก่
  • คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา
6. คัมภีร์ที่เกี่ยวกับโรคลม ได้แก่
  • คัมภีร์ชวดาร กล่าวเกี่ยวกับโรคทางเดินปัสสาวะ หัวใจ และไต ซึ่งอธิบายโดยทฤษฎีลม
  • คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร อธิบายที่ตั้งและการเรียกชื่อโรคของ โรคลม
7. คัมภีร์ที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยเรื้อรัง ได้แก่
  • คัมภีร์กษัย
8. คัมภีร์ที่เกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นที่เยื่อบุผิว ได้แก่
  • คัมภีร์ทิพยมาลา เกี่ยวกับฝีภายในร่างกาย
  • คัมภีร์ไพจิตร์มหาวงศ์ กล่าวเกี่ยวกับฝี
9. คัมภีร์ที่เกี่ยวกับโรคตา ได้แก่
  • คัมภีร์อภัยสันตา
พอจะเป็นความรู้เบื้องต้นในการที่จะนำไปต่อยอดในการศึกษา ค้นคว้าตำหรับตำรา คัมภีร์ด้านแพทย์แผนไทยในรายละเอียดกันต่อไปนะครับ

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/การแพทย์แผนไทย

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

ชีวประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์ - บรมครูแพทย์แผนโบราณ(แพทย์แผนไทย)

ชีวประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์ - บรมครูแพทย์แผนโบราณ(แพทย์แผนไทย)

หมอชีวกโกมารภัจจ์

"...ดอกบัวยังมีชาติกำเนิดมาจากโคลนตมธรรมดาคนจะดีจึงไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิดที่ดี หรืออยู่ที่ใด หากแต่อยู่ที่ คุณธรรม ความดี ความเสียสละเพื่อมนุษย์ชาติ ใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่าเพื่อสาธารณะชนทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม โดยไม่หวังผลตอบแทน"

"...บุคคลเช่นนี้ได้บังเกิดขึ้นแล้วในอดีตแม้ร่างจะล่วงลับดับขันธ์ไป แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณความดีของท่าน ยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจของคนในสมัยต่อมา ทั้งในด้านคุณธรรม ความสามารถ ปาฏิภาณความฉลาดเป็นเลิศในทุกด้าน จนได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นเอกอัครอภิมหาบูรพปรมาจารย์แห่งชมพูทวีป เมื่อ 2,600 ปีก่อน"

"...ท่านผู้นั้นคือ หมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์แผนประจำองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีชื่อเสียงก้องโลกในทางว่านยาและสมุนไพรรักษาโรค ผู้ถือกำเนิดมาจากหญิงโสเภณีไม่ปรากฏบิดา"


ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร  และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วยเรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์
       หมอชีวกเกิดที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา(หญิงงามเมือง) ชื่อว่า สาลวดี แต่ไม่รู้จักมารดาบิดาของตน เพราะเมื่อนางสาลวดีมีครรภ์ เกรงค่าตัวจะตกจึงเก็บตัวอยู่ ครั้นคลอดแล้วก็ให้คนรับใช้เอาทารกไปทิ้งที่กองขยะ
       แต่พอดีเมื่อถึงเวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร จะไปเข้าเฝ้า เสด็จผ่านไป เห็นการุมล้อมทารกอยู่ เมื่อทรงทราบว่าเป็นทารกและยังมีชีวิตอยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางสนมเลี้ยงไว้ในวัง ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารกเจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชิวิตอยู่ (หรือยังเป็นอยู่) หรือไม่ และทรงได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวติ = ยังเป็นอยู่ หรือยังมีชีวิตอยู่) ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง)
       ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น พอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตน จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ศึกษาอยู่ ๗ ปี อยากทราบว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ให้ถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ ๑ โยชน์รอบเมืองตักสิลา เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ยา ชีวกไม่พบ กลับมาบอกอาจารย์ๆ ว่าสำเร็จการศึกษามีวิชาพอเลี้ยงชีพแล้ว และมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย ชีวกเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์
       เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ให้รางวัลมากมาย หมอชีวกได้เงินมา ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้า เดินทางกลับถึงพระนครราชคฤห์ นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์
       ต่อมาไม่นาน เจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมชนแห่งมคธทรงหายประชวรแล้ว จะพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง ๕๐๐ นางให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
       หมอชีวกได้รักษาโรครายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ


       หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก)
       เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
       ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติ ข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิด
       นอกจากนั้น หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล

เพลงหมอชีวกโกมารภัจจ์

ที่มา : http://www.nkgen.com/218.htm, 
http://www.youtube.com/watch?v=Iwud3-A4qrw

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

การแพทย์แผนไทย(Thai Traditional Medicine) คืออะไร? มีประวัติความเป็นมาอย่างไร?

การแพทย์แผนไทย(Thai Traditional Medicine)

          การแพทย์แผนไทย(Thai Traditional Medicine) หมายถึง "...ปรัชญา องค์ความรู้ และวิถีการปฎิบัติ เพื่อการดูแล สุขภาพและการบำบัดรักษาโรค ความเจ็บป่วยของประชาชนไทยแบบดั้งเดิม สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมแบบไทยและวิถีชีวิตแบบไทย วิธีการปฏิบัติของการแพทย์แผนไทยประกอบด้วยการใช้สมุนไพร (ด้วยการต้ม การอบ การประคบ การปั้นลูกกลอน เป็นอาทิ) หัตถบำบัดการรักษากระดูกแบบดั้งเดิม การใช้พุทธศาสนา หรือพิธีกรรมเพื่อดูแลรักษาสุขภาพจิต การคลอด การดูแลสุขภาพแบบไทยเดิมและธรรมชาติบำบัด ซึ่งได้จากการสะสมและถ่ายทอดประสบการณ์อย่างเป็นระบบ โดยการบอกเล่า การสังเกต การบันทึกและการศึกษาผ่านสถาบันการศึกษาด้านแพทย์แผนไทย…"


          ซึ่งการแพทย์แผนไทยนี้ ถือเป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย การอบ การประคบ และหมายความรวมถึงการเตรียมการผลิตยาแผนไทย ประดิษฐ์อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและสืบต่อกันมา การแพทย์แผนไทยอาจจะไม่มีองค์ความรู้ด้านกลไกการเกิดโรค และเทคนิคทางศัลยกรรมมากนัก แต่ต้องมีองค์ความรู้ด้านกลวิธีทางคลินิก เช่น การซักประวัติ และการรักษาด้วยยา เพียงแต่ขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิก (Evidence-based clinical knowledge) ซึ่งก็มาจากกฎข้อบังคับตามใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย ที่ว่า "มิให้แพทย์แผนไทยกระทำการอันเป็นวิทยาศาสตร์ใด ๆ" นั่นเอง ทำให้ไม่สามารถมีการตั้งสมมุติฐานและวิจัยได้อย่างเต็มที่

          การแพทย์แผนไทย หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า การแพทย์แผนโบราณ เป็นความพยายามที่จะอธิบายภาวะต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งสภาวะปกติ และสภาวะที่ผิดปกติ(เป็นโรค) โดยใช้ทฤษฎีความสมดุลของธาตุต่าง ๆ ในร่างกายเข้ามาอธิบาย ผสมผสานองค์ความรู้จากวัฒนธรรมอินเดีย พุทธศาสนา และองค์ความรู้ที่ถูกพัฒนาขึ้นเองโดยครูการแพทย์แผนไทย คือ หมอชีวกโกมารภัจจ์ และมีการเรียนการสอนและการถ่ายทอดความรู้อย่างกว้างขวางสืบทอดมายาวนานหลายพันปี หลายสมัย หลายรัชกาลแผ่นดิน ตั้งแต่าสมัยพุทธกาล มากรุงศรีอยุธยา จวบจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

หมอชีวกโกมารภัจจ์

          ปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยกันอย่างกว้างขวาง หลังจากที่การแพทย์แผนไทยถูกปล่อยปละละเลยมานาน จนกลายเป็นเพียงการรักษาคนไข้แบบนอกระบบ เพราะพระราชบัญญัติการแพทย์เพื่อควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ มีผลโดยตรง ทำให้การแพทย์แผนไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หมอยาไทยทั้งหมด ทั้งหมอหลวงและหมอเชลยศักดิ์ (หมอพื้นบ้าน) ต่างได้ละทิ้งอาชีพ แพทย์แผนไทยได้กลายเป็นหมอนอกระบบเรียกว่า การแพทย์แผนโบราณนั้นหมายถึง "…ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยความสังเกต ความชำนาญอันได้บอกเล่าต่อกันมาเป็นที่ตั้ง หรืออาศัยตำราอันมีมาแต่โบราณโดยมิได้ดำเนินไปในทางวิทยาศาสตร์…" การที่พระราชบัญญัติให้คำจำกัดความว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์นี้เอง ทำให้การแพทย์แผนไทย ต้องถูกตราบาปมานาน ขาดการสนใจจากวงการการสาธารณสุขไทย ทำให้ต้องดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวและขาดการสนับสนุน

          ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) ในครั้งนั้นได้ทรงปรารภว่าวัดพระเชตุพนฯ เป็นแหล่งรวบรวมตำราแพทย์แผนไทยอยู่แล้ว ทำไมไม่จัดให้มีโรงเรียนสอนการแพทย์แผนไทยในวิชาเวชกรรม ผดุงครรภ์ หัตถเวช และเภสัชกรรม เพื่อเป็นวิทยาทานให้แก่ผู้สนใจต้องการศึกษา ทำให้คณะกรรมการวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์แผนไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ ได้รับสนองพระราชปรารภและจัดทำหลักสูตรโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้นในนาม "โรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย"

          ปี พ.ศ.๒๕๓๒ การแพทย์แผนไทยได้เข้าสู่ระบบราชการ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งศูนย์การประสานงานการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทยขึ้น เป็นองค์กรประสานงานการพัฒนาการแพทย์แผนไทย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๖ จึงได้จัดตั้งเป็นสถาบันการแพทย์แผนไทยขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ เป็นหน่วยงานระดับสูงกว่ากอง สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และได้รับการรับรองฐานะอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ต่อมาโดยพระราชบัญญัติคุ้มครอง ส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ๒ ก. ลงวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๔ หน่วยงานใหม่ที่เกิดขึ้นมีชื่อว่า "สถาบันการแพทย์แผนไทย"

หวังว่าบทความการแพทย์แผนไทย(Thai Traditional Medicine) คืออะไร? มีประวัติความเป็นมาอย่างไร? นี้จะช่วยให้ความรู้กับผู้ที่สนใจศึกษางานด้านนี้ไม่มากก็น้อย

ที่มา: http://www.pharmacy.msu.ac.th/exhibition_new/med-his.html

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

สถิติบล็อก