RSS

ความหมาย ความสำคัญของการแพทย์พื้นบ้านและหมอพื้นบ้าน

การแพทย์พื้นบ้าน

     การแพทย์พื้นบ้านไทยเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีคุณค่าคู่กับคนไทย มาแต่ดั้งเดิม  เป็นประสบการณ์การต่อสู้ดิ้นรน  เพื่อการมีชีวิตอยู่รอด  และดูแลรักษาตนเองจากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง  กลายเป็นรากฐานภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพด้วยตนเองอย่างเหมาะสม

ความหมายของการแพทย์พื้นบ้าน 

     การแพทย์พื้นบ้าน หมายถึง  การดูแลสุขภาพตนเองในชุมชนแบบดังเดิมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเกี่ยวกับความเชื่อ  พิธีกรรม  วัฒนธรรม  ประเพณี  และทรัพยากรที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น



     หมอพื้นบ้าน หมายถึง หมอที่รักษาความเจ็บป่วยของชาวบ้าน ที่มีสาเหตุมาจากสิ่งเหนือธรรมชาติ  ได้แก่  หมอธรรม  หรือหมอส่อง  หมอลำผีฟ้า  หมอสู่ขวัญหรือหมอส่งขวัญ  และที่มีสาเหตุของการเจ็บป่วยมาจากธรรมชาติ ได้แก่  หมอสมุนไพร  หมอกระดูก  หมอนวด


ระบบการแพทย์พื้นบ้าน 

       ระบบการแพทย์พื้นบ้าน มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่  4  ประการ ได้แก่
     1. ความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรค การแพทย์พื้นบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคอยู่  2  ประการ

       ประการแรก  ( Personalitic  Medical  System )  เชื่อว่าโรคหรือความเจ็บป่วยเกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติ  ได้แก่  การเจ็บป่วยที่เกิดจากการกระทำของผีที่เกิดจากกรรมหรือกฎแห่งกรรม  เกิดจากไสยศาสตรไ  พลังอำนาจเวทมนต์  คาถา ความเจ็บป่วยที่เกิดจากวิถลการโคจรและตำแหน่งของดวงดาว  และความเจ็บป่วยเกิดจากการละเมิดขนบธรรมเนียมประเพณี

      ประการที่สอง  ( Naturalistic  Medical  System )  คือ  โรคและความเจ็บป่วยเกิดจากธรรมชาติเป็นความเจ็บป่วย เกิดจากการเสียสมดุลของร่างกายตามอายุ และเงื่อนไขของแต่ละบุคคลตามสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมของบุคคลนั้น

      2. วิธีการรักษาของหมอพื้นบ้าน  จะมีความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยา  ความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรค  และประเภทของหมอ  อย่างไรก็ตาม  หมอพื้นบ้านทุกประเภทมีกระบวนการรักษา เป็นขั้นตอนหลักที่มักไม่แตกต่างกันมีอยู่  4  ขั้นตอน  คือ  ขั้นตอนการตั้งเครื่องบูชาครู อีสาน  เรียกว่า  ตั้งคาย  อันประกอบด้วย ขันธ์ 5  ได้แก่  ดอกไม้สีขาว 5 คู่  เทียน 5 เล่ม  และเงินตั้งคาย 6 – 24 บาท  แล้วแต่ประเภทของหมอ  ขั้นตอนการวินิจฉัยโรค  เมื่อผู้ป่วยนำคายมาบูชาครูแล้ว  หมอจะทำการวินิจฉัยโรคตามวิธีการของแต่ละประเภท  ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป  เมื่อวินิจฉัยโรคแล้วก็เป็นขั้นตอนของการรักษาที่หมอจะทำการรักษาตามกรรมวิธีของตน  โดยอาจใช้สมุนไพร  การเป่าเสก  ทาน้ำมัน  ทำพิธีการขับไล่ผีหรือพิธีสู่ขวัญ  เป็นต้น  กรณีที่ไม่หายจะแนะนำให้ผู้ป่วยไปรักษารูปแบบอื่นต่อไป  ขั้นตอนสุดท้าย  เป็นขั้นตอนของการปลงคาย  เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคแล้วจะยกเครื่องบูชาครูให้หมอ  ในท้องถิ่นอีสานบางแห่ง  เครื่องบูชาครูประกอบด้วย  ดอกไม้สีขาว 5 คู่  เทียน 5 เล่ม  ผ้าซิ่น 1 ผืน  และเงินคู่สมนาคุณ  หรือสมนาคุณตามฐานะของผู้ป่วย

     3. หมอพื้นบ้าน  เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของการแพทย์พื้นบ้าน   หมอพื้นบ้านมีหลายประเภท  ถ้าจำแนกโดยใช้เกณฑ์ตามความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของการเจ็บป่วยสามารถจำแนกออกเป็นดังนี้  ประเภทของหมอที่รักษาความเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากสิ่งเหนือธรรมชาติ  ได้แก่  หมอธรรม  หรือหมอส่อง  หมอลำผีฟ้า  หมอสู่ขวัญหรือหมอส่งขวัญ  ประเภทของหมอที่รักษาความเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจาก ธรรมชาติ  ได้แก่  หมอสมุนไพร  หมอกระดูก  หมอนวด

     4. ผู้ป่วยที่มารับการรักษา พบว่า ผู้ป่วยที่มารับการรักษากับหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  จบการศึกษาภาคบังคับและมีอาชีพ เกษตรกรรม  สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าการแพทย์พื้นบ้านยังมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชน


ลักษณะเด่นของการแพทย์พื้นบ้าน  มีดังนี้

     1. เป็นระบบการแพทย์แบบองค์รวม ที่มีแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับความเจ็บป่วยว่าไม่ได้หมายถึง ความผิดปกติของร่างกาย เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความสัมพันธ์กับสังคม  และสภาพแวดล้อมด้วย

     2. การรักษาโรคได้ผลดีในกลุ่มที่อาการไม่ชัดเจน ซึ่งหมอและผู้ป่วยเชื่อว่าเกิดจากอำนาจเหนือธรรมชาติแยกออกไม่ชัดเจน ระหว่าง อาการทางกายและทางจิต

     3. มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เนื่องจากชาวบ้านและหมอพื้นบ้านมีพื้นฐานทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต การศึกษา และฐานะทาง เศรษฐกิจใกล้เคียงกัน จึงไม่มีความแตกต่างกันระหว่างชนชั้น

     4. เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถกำหนดค่ารักษาได้ตามฐานะเศรษฐกิจ (ค่าสมนาคุณหรือค่าตอบแทนหมอได้)

     5. วินิจฉัยและรักษาโรคโดยบริบททางสังคมวัฒนธรรม

     6. มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางโรคได้แน่นอน เช่น  งูสวัด

     7. ผู้ป่วยมีความพอใจในรูปแบบการบริการ เพราะไม่ยุ่งยากซับซ้อน

ที่มา: http://202.183.204.137/research/webresearch/ztm.html

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

สถิติบล็อก