RSS

ความหมาย ความสำคัญของการแพทย์พื้นบ้านและหมอพื้นบ้าน

การแพทย์พื้นบ้าน

     การแพทย์พื้นบ้านไทยเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีคุณค่าคู่กับคนไทย มาแต่ดั้งเดิม  เป็นประสบการณ์การต่อสู้ดิ้นรน  เพื่อการมีชีวิตอยู่รอด  และดูแลรักษาตนเองจากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง  กลายเป็นรากฐานภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพด้วยตนเองอย่างเหมาะสม

ความหมายของการแพทย์พื้นบ้าน 

     การแพทย์พื้นบ้าน หมายถึง  การดูแลสุขภาพตนเองในชุมชนแบบดังเดิมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเกี่ยวกับความเชื่อ  พิธีกรรม  วัฒนธรรม  ประเพณี  และทรัพยากรที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น



     หมอพื้นบ้าน หมายถึง หมอที่รักษาความเจ็บป่วยของชาวบ้าน ที่มีสาเหตุมาจากสิ่งเหนือธรรมชาติ  ได้แก่  หมอธรรม  หรือหมอส่อง  หมอลำผีฟ้า  หมอสู่ขวัญหรือหมอส่งขวัญ  และที่มีสาเหตุของการเจ็บป่วยมาจากธรรมชาติ ได้แก่  หมอสมุนไพร  หมอกระดูก  หมอนวด


ระบบการแพทย์พื้นบ้าน 

       ระบบการแพทย์พื้นบ้าน มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่  4  ประการ ได้แก่
     1. ความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรค การแพทย์พื้นบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคอยู่  2  ประการ

       ประการแรก  ( Personalitic  Medical  System )  เชื่อว่าโรคหรือความเจ็บป่วยเกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติ  ได้แก่  การเจ็บป่วยที่เกิดจากการกระทำของผีที่เกิดจากกรรมหรือกฎแห่งกรรม  เกิดจากไสยศาสตรไ  พลังอำนาจเวทมนต์  คาถา ความเจ็บป่วยที่เกิดจากวิถลการโคจรและตำแหน่งของดวงดาว  และความเจ็บป่วยเกิดจากการละเมิดขนบธรรมเนียมประเพณี

      ประการที่สอง  ( Naturalistic  Medical  System )  คือ  โรคและความเจ็บป่วยเกิดจากธรรมชาติเป็นความเจ็บป่วย เกิดจากการเสียสมดุลของร่างกายตามอายุ และเงื่อนไขของแต่ละบุคคลตามสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมของบุคคลนั้น

      2. วิธีการรักษาของหมอพื้นบ้าน  จะมีความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยา  ความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรค  และประเภทของหมอ  อย่างไรก็ตาม  หมอพื้นบ้านทุกประเภทมีกระบวนการรักษา เป็นขั้นตอนหลักที่มักไม่แตกต่างกันมีอยู่  4  ขั้นตอน  คือ  ขั้นตอนการตั้งเครื่องบูชาครู อีสาน  เรียกว่า  ตั้งคาย  อันประกอบด้วย ขันธ์ 5  ได้แก่  ดอกไม้สีขาว 5 คู่  เทียน 5 เล่ม  และเงินตั้งคาย 6 – 24 บาท  แล้วแต่ประเภทของหมอ  ขั้นตอนการวินิจฉัยโรค  เมื่อผู้ป่วยนำคายมาบูชาครูแล้ว  หมอจะทำการวินิจฉัยโรคตามวิธีการของแต่ละประเภท  ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป  เมื่อวินิจฉัยโรคแล้วก็เป็นขั้นตอนของการรักษาที่หมอจะทำการรักษาตามกรรมวิธีของตน  โดยอาจใช้สมุนไพร  การเป่าเสก  ทาน้ำมัน  ทำพิธีการขับไล่ผีหรือพิธีสู่ขวัญ  เป็นต้น  กรณีที่ไม่หายจะแนะนำให้ผู้ป่วยไปรักษารูปแบบอื่นต่อไป  ขั้นตอนสุดท้าย  เป็นขั้นตอนของการปลงคาย  เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคแล้วจะยกเครื่องบูชาครูให้หมอ  ในท้องถิ่นอีสานบางแห่ง  เครื่องบูชาครูประกอบด้วย  ดอกไม้สีขาว 5 คู่  เทียน 5 เล่ม  ผ้าซิ่น 1 ผืน  และเงินคู่สมนาคุณ  หรือสมนาคุณตามฐานะของผู้ป่วย

     3. หมอพื้นบ้าน  เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของการแพทย์พื้นบ้าน   หมอพื้นบ้านมีหลายประเภท  ถ้าจำแนกโดยใช้เกณฑ์ตามความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของการเจ็บป่วยสามารถจำแนกออกเป็นดังนี้  ประเภทของหมอที่รักษาความเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากสิ่งเหนือธรรมชาติ  ได้แก่  หมอธรรม  หรือหมอส่อง  หมอลำผีฟ้า  หมอสู่ขวัญหรือหมอส่งขวัญ  ประเภทของหมอที่รักษาความเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจาก ธรรมชาติ  ได้แก่  หมอสมุนไพร  หมอกระดูก  หมอนวด

     4. ผู้ป่วยที่มารับการรักษา พบว่า ผู้ป่วยที่มารับการรักษากับหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  จบการศึกษาภาคบังคับและมีอาชีพ เกษตรกรรม  สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าการแพทย์พื้นบ้านยังมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชน


ลักษณะเด่นของการแพทย์พื้นบ้าน  มีดังนี้

     1. เป็นระบบการแพทย์แบบองค์รวม ที่มีแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับความเจ็บป่วยว่าไม่ได้หมายถึง ความผิดปกติของร่างกาย เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความสัมพันธ์กับสังคม  และสภาพแวดล้อมด้วย

     2. การรักษาโรคได้ผลดีในกลุ่มที่อาการไม่ชัดเจน ซึ่งหมอและผู้ป่วยเชื่อว่าเกิดจากอำนาจเหนือธรรมชาติแยกออกไม่ชัดเจน ระหว่าง อาการทางกายและทางจิต

     3. มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เนื่องจากชาวบ้านและหมอพื้นบ้านมีพื้นฐานทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต การศึกษา และฐานะทาง เศรษฐกิจใกล้เคียงกัน จึงไม่มีความแตกต่างกันระหว่างชนชั้น

     4. เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถกำหนดค่ารักษาได้ตามฐานะเศรษฐกิจ (ค่าสมนาคุณหรือค่าตอบแทนหมอได้)

     5. วินิจฉัยและรักษาโรคโดยบริบททางสังคมวัฒนธรรม

     6. มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางโรคได้แน่นอน เช่น  งูสวัด

     7. ผู้ป่วยมีความพอใจในรูปแบบการบริการ เพราะไม่ยุ่งยากซับซ้อน

ที่มา: http://202.183.204.137/research/webresearch/ztm.html

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

สมุนไพรไทยที่ชื่อ กล้วยน้ำว้า(Banana)

กล้วยน้ำว้า



     กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยพันธุ์หนึ่ง พัฒนามาจากลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี บริโภคกันอย่างแพร่หลาย ปลูกง่าย รสชาติดี สำหรับกล้วยน้ำว้าแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามสีของเนื้อ คือ น้ำว้าแดง น้ำว้าขาว และน้ำว้าเหลือง คนไทยรับประทานกล้วยน้ำว้าทั้งผลสด ต้ม ปิ้ง และนำมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีกล้วยน้ำว้าดำ ซึ่งเปลือกมีสีครั่งปนดำ แต่เนื้อมีสีขาว รสชาติอร่อยคล้ายกล้วยน้ำว้าขาว สำหรับกล้วยตีบเหมาะที่จะรับประทานผลสด เพราะเมื่อนำไปย่าง หรือต้มจะมีรสฝาด


ข้อมูลจำเพาะของกล้วยน้ำว้า

ชื่อสามัญ Banana

ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa ABB cv. Kluai 'Namwa'

วงศ์ Musaceae

ชื่อพื้นเมือง กล้วยมะลิอ่อง (จันทบุรี) กล้วยใต้ (เชียงใหม่, เชียงราย) กล้วยอ่อง (ชัยภูมิ) กล้วยตานีอ่อง (อุบลราชธานี)

ลักษณะ
     ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 3.5 เมตร ลำต้นสั้นอยู่ใต้ดิน กาบเรียงเวียนซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม สีเขียวอ่อน ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 25-40 ซม. ยาว 1-2 เมตร ปลายใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ด้านล่างมีนวลสีขาว เส้นใบขนานกันในแนวขวาง ก้านใบเป็นร่องแคบ ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอดห้อยลง เรียกว่า หัวปลี มีใบประดับขนาดใหญ่หุ้มสีแดงเข้ม เมื่อบานจะม้วนงอขึ้น ด้านนอกมีนวล ด้านในเกลี้ยง ผล รูปรี ยาว 11-13 ซม. ผิวเรียบ ปลายเป็นจุก เนื้อในมีสีขาว พอสุกเปลือกผลเป็นสีเหลือง เนื้อมีรสหวาน รับประทานได้ หวีหนึ่งมี 10-16 ผล บางครั้งมีเมล็ด เมล็ดกลม สีดำ

ส่วนที่ใช้
หัวปลี  เนื้อกล้วยน้ำว้าดิบ หรือห่าม กล้วยน้ำว้าสุกงอม ราก ต้น ใบ ยางจากใบ

สารที่สำคัญ
หัวปลี  มีธาตุเหล็กมาก

หัวปลี และราก มี Triterpene หรือ Steroid

ผลกล้วย ทุกชนิดประกอบด้วย น้ำ แป้ง โปรตีน ไขมัน เส้นใย เกลือแร่ต่างๆ (โดยเฉพาะแคลเซียม เหล็ก และโปรแตสเซียมในกล้วยหอมมีมาก) วิตามิน และเอนไซม์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมี Serotonin Noradrenaline และ Dopamine

ผลดิบ มีแป้ง Tannin acid, Gallic acid และ Pectin มาก

กล้วยหอมสุก ให้กลิ่น และรสของ Amyl acetate, Amylbutyrate Acetaldehyde, Ethyl alcohol และ Methyl alcohol

น้ำยาง มี Pelargonidin, Cyanidin, Delphinidin Palonidin Petunidin และ Malvidin

สรรพคุณ
ราก - แก้ขัดเบา


ต้น - ห้ามเลือด แก้โรคไส้เลื่อน

ใบ - รักษาแผลสุนัขกัด ห้ามเลือด

ยางจากใบ - ห้ามเลือด สมานแผล

ผล - รักษาโรคกระเพาะ แก้ท้องเสีย ยาอายุวัฒนะ แก้โรคบิด รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้ริดสีดวง

กล้วยน้ำว้าดิบ - มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเดิน แก้โรคกระเพาะ และอาหารไม่ย่อย

กล้วยน้ำว้าสุกงอม - เป็นอาหาร ยาระบาย สำหรับผู้ที่อุจจาระแข็ง หรือเป็นริดสีดวงทวารขั้นแรกจนกระทั่งถ่ายเป็นเลือด

หัวปลี - (ช่อดอกของต้นกล้วย จำนวนไม่จำกัด) ขับน้ำนม


ขนาดและวิธีการใช้
ขับน้ำนม - ใช้หัวปลีแกงเลียงรับประทานบ่อยๆ หลังคลอดใหม่ๆ

แก้ท้องเดินท้องเสีย
     ใช้กล้วยน้ำว้าดิบหรือห่ามมาปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นบางๆ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มนานครึ่งชั่วโมง ดื่มครั้งละ 1/2 - 1 ถ้วยแก้ว ให้ดื่มทุกครั้งที่ถ่าย หรือทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ใน 4-5 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นให้ดื่มทุกๆ 3-4 ชั่วโมง หรือวันละ 3-4 ครั้ง

คุณค่าทางอาหารและยา
     กล้วยน้ำว้าเมื่อเทียบกับกล้วยหอมและกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้าจะให้พลังงานมากที่สุด กล้วยน้ำว้าห่ามและสุกมีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น กินกล้วยน้ำว้าสุก จะช่วยระบายท้องและสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย โดยกินวันละ 4-6 ลูก แบ่งกินกี่ครั้ง ก็ได้ กินกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี เห็นผลได้ใน 1 สัปดาห์ กล้วยน้ำว้าดิบและห่ามมีสารแทนนิน เพคตินมีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษา อาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยกินครั้งละครึ่งผล หรือ 1 ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลง นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย

เป็นยังไงกันบ้าง สำหรับสมุนไพรไทยที่ชื่อ กล้วย ถึงจะกล้วยๆ แต่สรรพคุณและคุณค่าทางอาหารก็ไม่ได้กล้วยๆอย่างที่คิดนะ จะบอกให้ ^^

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

ว่าด้วยเรื่องของสิว

ว่าด้วยเรื่องของสิว


สิว คืออะไร
     สิว คือ การอักเสบของหน่วยรูขนและต่อมไขมัน( pilosebaceous unit) โดยมากมักเป็น
บริเวณหน้า คอ และลำตัวส่วนบน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีต่อมไขมันขนาดใหญ่อยู่หนาแน่น มักพบใน
วัยรุ่น แต่บางคนอาจเป็นๆหายๆจนอายุเลย 40 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดสิว

     สิว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ผิวหนัง สิวจะปรากฏอาการในผู้หญิงช่วง
อายุ 14-17 ปี และในผู้ชายช่วงอายุ 16-19 ปี ความรุนแรงของสิวจะมากขึ้น 3-5 ปี หลังจากเริ่มเป็น
สิว และมักหายไปในช่วงอายุ 20-25 ปี ร้อยละ 85 ของผู้เป็นสิวจะเป็นชนิดไม่รุนแรง มีเพียงร้อยละ
15 ที่เป็นสิวอักเสบรุนแรง

     ถ้าเป็นเม็ดนูนเล็กๆ ไม่มีรูเปิดเรียก สิวหัวขาว ถ้ามีรูเปิดที่ผิวหนังมองเห็นเป็นจุดดำอยู่ตรงกลางเรียกสิวหัวดำ นอกจากนี้อาจเกิดเป็นตุ่มนูนเล็กๆ แดงๆ อาจเห็นเป็นตุ่มหนอง ,หรือตุ่มนูนแข็งเม็ดโต หรือตุ่มแดงอักเสบแบบถุงซีสต์ที่เรียกกันว่า สิวหัวช้าง สิวที่สร้างความวิตกมากคือ สิวบริเวณใบหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่พบบ่อย ในบางรายอาจเกิดบริเวณ คอ , หลัง, อก, สาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ฮอร์โมนเพศ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ต่อมไขมันโตเต็มที่ผลิตน้ำมันมากขึ้น ท่อของต่อมไขมันหนาตัวมีการอุดตัน น้ำมันระบายออกไม่ได้คั่งค้างอยู่ภายใน เชื้อแบคทีเรียที่อยู่บริเวณนี้แบ่งตัวเพิ่มขึ้น ย่อยสลายไขมันทำให้เกิดความระคายเคือง และท่อต่อมไขมันแตกออก กรดไขมันออกสู่บริเวณข้างเคียงเกิดเป็นสิวอักเสบขึ้น ความรุนแรงของสิวแต่ละคนแตกต่างกันไป บางรายเป็นมากบางรายเป็นน้อย สิวอักเสบอาจกำเริบได้ในช่วงมีความเครียด เช่น อดนอน หรือในผู้หญิงช่วงใกล้มีประจำเดือน นอกจากนี้การบีบแกะสิว จะกระทบกระเทือนและนำเชื้อโรคเกิดการอักเสบมากขึ้น และมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นเมื่อสิวหายแล้ว

อาการของสิว
    ลักษณะทางคลินิกของสิว บริเวณที่เป็นสิวบ่อย คือ หน้า รองลงมา คือ คอ หลัง และอก
ส่วนบน แบ่งสิวได้เป็น 2 ลักษณะ คือ


ก. ชนิดไม่อักเสบ คือ สิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขน เรียกว่า comedone (ductal
hypercornification) มี 2 ชนิด
- closed comedone เป็นตุ่มกลมเล็กแข็งสีขาวจะเห็นชัดขึ้นเมื่อดึงผิวหนังให้ตึงหรือโดยการคลำ
- open comedone เป็นตุ่มกลมเล็กแข็งคล้าย closed comedone แต่ตรงยอดมีรูเปิดและมีก้อนสีดำอุดอยู่

ข. ชนิดอักเสบ ได้แก่
- papule ตุ่มสีแดงขนาดเล็ก
- pustuleได้แก่ superficial และ deep pustule
- nodule ก้อนสีแดงภายในมีหนองปนเลือด บางครั้งอาจเป็นหลายหัวติดกัน
- cyst ก้อนนูนแดง นิ่ม ภายในมีหนองปนเลือด
เมื่อสิวหายอาจจะเหลือร่องรอยได้หลายแบบ ได้แก่ รอยแดง, รอยดำ, หลุมแผลเป็น,
แผลเป็นนูน

การจัดระดับความรุนแรงของสิว
- สิวเล็กน้อย (mild acne) มีหัวสิวไม่อักเสบ( comedone )เป็นส่วนใหญ่ หรือมีสิวอักเสบ
(papule และ pustule)ไม่เกิน 10 จุด
- สิวปานกลาง (moderate acne) มี papule และ pustule ขนาดเล็กจำนวนมากกว่า 10 จุดและ/หรือ มี nodule น้อยกว่า 5 จุด
- สิวรุนแรง (severe) มี papule และ pustule มากมาย มี nodule หรือ cyst เป็นจำนวนมากหรือมี nodule อักเสบอยู่นานและกลับเป็นซ้ำหรือมีหนองไหล มี sinus tract



สาเหตุที่ทำให้เกิดสิว
1. รูเปิดและท่อทางเดินของต่อมไขมันอุดตัน (Ductal hypercornification) เราจะพบว่า ผู้ที่มีใบหน้ามัน ผมมัน หนังศีรษะมัน มักจะเกิดสิวได้ง่ายกว่าผู้ที่มีใบหน้าแห้ง

2. แบคทีเรีย ส่วนใหญ่จากเชื้อแบคทีเรีย พวก P.acnes แต่บางครั้งมีการติดเชื้ออื่นๆ แทรกซ้อนได้

3. เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว บางคนใช้เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิวหลายชนิด และเกิดอาการแพ้ ระคายเคืองทำให้ท่อทางเดินของต่อมไขมันเกิดการอักเสบและอุดตัน ทำให้เกิดสิวได้

4. ช่วงใกล้มีประจำเดือน (Premenstrual) ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน จะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย จะกระตุ้นให้เกิดสิวมากขึ้นได้

5. ยา บางชนิดทำให้เกิดสิวมากขึ้นได้ เช่น ยาพวกสเตียรอยด์ชนิดกินและชนิดทา ยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) เป็นต้น

6. กรรมพันธุ์ มีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง ถ้าพ่อแม่เป็นสิวมาก ลูกก็มีโอกาสเป็นสิวมากเช่นกัน

7. ความเครียด วิตกกังวล ผู้ที่ทำงานหนักมากเกินไป เครียด วิตกกังวลมาก นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอจะเกิดสิวได้ง่าย

8. การถู ขัดหน้า พอกหน้า สารพัดแบบ ถ้าท่านทำมากเกินไปบ่อยครั้งจนเกินไป จะทำให้ตัวคลุมผิวตามธรรมชาติ (skin barrier) หลุดลอกออกไป ผิวหน้าจะยิ่งบางลง และไวต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ มากขึ้น จะเกิดการแพ้ ระคายเคือง และเกิดสิวมากขึ้นได้ จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

9. อาหาร เครื่องดื่มพวกเหล้า เบียร์ ที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ จะมีส่วนทำให้เกิดสิวมากขึ้นได้ แต่ช็อกโกแลตไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่หลายคนว่าทานช็อกโกแลตแล้วเป็นสิวมากขึ้น คิดว่าคงเป็นการบังเอิญมากกว่า

10. อากาศร้อน ถ้าอยู่ในที่อากาศร้อนมากๆ จะเกิดสิวได้ง่ายกว่าที่มีอากาศเย็นๆ ฯลฯ

    ส่วนแนวทางการรักษาสิวนั้น มีมากมายหลากหลายแนวทางทั้งการใช้สมุนไพร หรือยารักษาสิวต่างๆ แล้วแต่อาการ และสภาพผิวของแต่ละบุคคล ซึ่งจะได้กล่าวในบทความต่อไป

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

รวมสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยลดความอ้วน ตอนที่ 2


     จากบทความ รวมสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยลดความอ้วน ตอนที่ 1 ที่ได้แนะนำำไปแล้วเมื่อคราวก่อน บทความนี้จะแนะนำสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยลดความอ้วน เพิ่มเติมอีก 4 ชนิด มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. รำข้าวโอ๊ต

รำข้าวโอ๊ต

     รำข้าวโอ๊ต ข้าวโอ๊ต พบมากในประเทศแถบยุโรป เป็นไฟเบอร์ที่ช่วยลดการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย และรำข้าวโอ๊ตจะเกาะติดกับไขมันทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันไปได้น้อย อีกทั้งยังช่วยในการขับถ่าย ลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ไม่ทำให้ท้องผูก รำข้าวโอ๊ต บรรจุอยู่ในรูปของแคปซูลราคาค่อนข้างสูง

2. แมงลัก

แมงลัก

     แมงลัก เป็นพืชล้มลุกให้ไฟเบอร์สูง มีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้ 25 เท่า ทำให้พองตัว เมื่อกินเข้าไปจึงทำให้รู้สึกอิ่มเร็วและอยู่ท้องนาน ซึ่งช่วยป้องกันการดูดซึมไขมันสู่กระแสเลือด ช่วยลดระดับไขมันและน้ำตาล ขับถ่ายได้ง่ายมากขึ้น บรรเทาอาการท้องผูก ช่วยลดการดูดซึมอาหารเข้าสู่ร่างกาย

3. หัวบุก

หัวบุก

     หัวบุก หรือ คอนยัค เป็นพืชล้มลุกคล้ายพืชตระกูลมัน มีสารกลูโคแมนแนนที่ช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็ว เพราะพองตัวได้นานถึงครึ่งชั่วโมง และช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลในร่างกาย หัวบุกไม่ให้พลังงานแต่การวิจัยพบว่าหัวบุกมีส่วนช่วยในเรื่องลดความอ้วนน้อย หัวบุกมักจะถูกแปรรูปเป็นเส้นใยขุ่นคล้ายวุ้นเส้น หรือก้อนลูกเต๋าเล็ก ๆ นำมาผสมกับเครื่องดื่ม

4. ผลส้มแขก

ผลส้มแขก

     ผลส้มแขก หรือ Garcinia Combogia เป็นสมุนไพรที่พบมากทางภาคใต้ มีรูปร่างคล้ายผลฟักทองขนาดเล็ก มีการวิจัยแล้วว่าในส้มแขกนั้นมีสาร HCA ซึ่งเป็นตัวยับยั้งการสะสมของไขมันส่วนเกิน เปลี่ยนไขมันที่สะสมไว้ให้เป็นพลังงาน ปัจจุบันผลส้มแขกจึงถูกนำมาใช้ในการลดความอ้วน ซึ่งบรรจุในรูปของแคปซูลหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป

อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนท้ายของบทความรวมสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยลดความอ้วน ตอนที่ 1 ว่า  พืช ผักใบเขียวที่เราๆ ท่านๆ กินกันอยู่นั่นแหล่ะครับ เป็นสมุนไพรช่วยป้องกันและรักษาโรคได้ แต่บางชนิดต้องสกัดสาร บางชนิดกินแล้วใช้ได้เลย ซึ่งก็ต้องศึกษารายละเอียดของสมุนไพรแต่ละชนิดให้ละเอียดด้วย และก่อนนำไปใช้ อย่าลืมปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยมชาญด้วย :)

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

รวมสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยลดความอ้วน ตอนที่ 1


     ความอ้วน หรือโรคอ้วน ถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่มีสถิติผู้เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการตามใจปาก กินหรือบริโภคแบบไม่บันยะบันยัง เพียงแค่ยึดหลักให้ อร่อยลิ้นเป็นฟาดเรียบจนพุงกาง แบบที่เรียกว่าตามใจปากเป็นหมู เพราะบางครั้งเวลาเรากินอาหารไม่ได้เพราะเราหิว แต่เรากินเพราะความอยาก พอกลิ่นอาหารจานโปรดโชยเข้าจมูก น้ำลายก็สอยากที่จะอดใจ และปัจจัยอีกอย่างหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไปมีไขมันสูง แป้งหรือน้ำตาลเยอะ ผักผลไม้รับประทานน้อย หรือบางคนไม่กินเลย เผลอแผล็บเดียวน้ำหนักเพิ่มขึ้น ตัวอ้วนกลมปุ๊ก คิดจะลดน้ำหนักให้เหลือเท่าเดิมก็สายเกินไป ลดได้ยากแล้ว ถึงตอนนี้โรคต่างๆก็จะตามมา หลายโรค ดังนั้นจึงควรระวังในเรื่องการกิน อย่าได้ตามใจปากอย่างเด็ดขาด

     แต่เมื่อความอ้วน หรือโรคอ้วนเกิดขึ้นกับร่างกายแล้วจะมีวิธีการอย่างไรในการทำให้ความอ้วนหรือโรคอ้วนลดลง หรือหายไป เป็นหุ่น รูปร่างปกติ และหนึ่งในวิธีการลดความอ้วนนั้นก็คือ การใช้สมุนไพร ซึ่งเมืองไทยเราสมุนไพรหลากหลายชนิดที่มีสรรพคุณช่วยลดความอ้วนช่วยลดความอ้วนได้ ดังรายการต่อไปนี้

1. ใบย่านาง

ใบย่านาง

     หากใครเป็นคออาหารอีสานรสแซบแล้วละก็ เป็นต้องคุ้นกับกลิ่นใบย่านางที่เคล้ามากับซุบหน่อไม้และแกงหน่อไม้ที่หอมยั่วน้ำลาย

     ใครบางคนว่ากลิ่นใบย่านางนั้นหอมแต่บางคนก็ว่าฉุนทั้งนี้และทั้งนั้นก็อาจเป็นเพราะขึ้นอยู่กับรสนิยมของคนกินด้วยว่ากลิ่นที่ว่านี้จะถูกกันหรือไม่ แต่หากว่าแกงกับซุบหน่อไม้ไร้ซึ่งน้ำคั้นจากใบย่านางก็เห็นทีจะไม่เป็นซุบหรือแกงที่รสชาติแซบนัว (แปลว่าอร่อยแบบกลมกล่อม – ภาษาอีสาน) เพราะกลิ่นเปรี้ยวกลิ่นขื่นและรสขมของหน่อไม้ทีดองก่อนนำมาทำอาหาร

     ย่านาง หรือ TILIACORA TRIANDRA DIELS อยู่ในวงศ์ MENISPERMACEAE เป็นไม้เลื้อย พบขึ้น ตามป่าผลัดใบ ป่าดงดิบ และป่าโปร่ง ทุกภาค ของประเทศไทย มีสรรพคุณเฉพาะ ทั้งต้นปรุงเป็นยาแก้ไข้กลับ ใบเป็นยาถอนพิษ การช่วยถอนพิษ แก้ไข้และลดความร้อนในร่างกายได้ อีกทั้งยังเป็นพืชที่ให้แคลเซียมและวิตามินซีค่อนข้างสูง และยังให้สารอาหารอื่นๆ เช่น ฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 และเบต้า-แคโรทีน หากกินทั้งใบก็จะมีเส้นใยมาก ส่วนรากของใบย่านางช่วยถอนพิษ แก้ไข้ แก้เมารถ เมาเรือ แก้โรคหัวใจและแก้ลมได้ด้วย ขอแถมให้อีกนิด หากนำน้ำใบย่านางมาสระผม จะช่วยทำให้ผมดกดำ ชลอผมหงอกได้อีกต่างหาก

ลักษณะทั่วไปของใบย่านาง
     ย่านางนั้นเป็นไม้เลื้อย เถาสีเขียวสดและอวบน้ำ ภายในลำต้นมีน้ำเมือกเหนียว มีขนตามกิ่งอ่อน เถาเมื่อแก่มีผิวเรียบและเหนียวมาก ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้มรูปไข่แกมรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ผิวใบมัน ออกดอกเล็ก ๆ ตามซอกใบ ดอกมีสีเหลือง ผลมีขนาดเล็กกลมรี

การปลูกและดูแลรักษา
     เดิมนั้นเถาย่านางมักขึ้นอยู่เองตามป่า แต่อยากปลุกก็ไม่ยากเพียงแค่เพราะเมล็ดหรือขุดเอารากที่เป็นหัวไปปลูกในที่ใหม่ รดน้ำให้ฉ่ำชุ่ม สักพักเถาย่านางก็จะคลี่กางเลื้อยขึ้นพันค้างที่เตรียมไว้ หรือหากไม่มีค้างก็มักเลื้อยพันต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งก็ไม่ถือเป็นเรื่องลำบากยากเย็นสำหรับเถาย่านาง เพราะเดิมนั้นเถาย่านางเป็นไม้ป่าจึงไม่กลัวความลำบากลำบน อดทนเป็นเยี่ยมและเติบโตได้ในทุกสภาพดินและสภาพอากาศทุกฤดูกาล หากอยากได้บรรยากาศเมืองร้อนแลป่าฝนก็ปลูกชมใบสีเขียวก็ดี

ใบย่านางลดความอ้วน
     อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสมุนไพร มีสูตรใช้ลดความอ้วนมากมายหลายสูตรและสูตร ที่ทำง่ายๆและได้ผลดีได้แก่ วิธีเอา “ย่านาง” ทั้งต้น มีขายตามแผงขายพืชผักพื้นบ้าน ตามตลาดสดทั่วไป เป็นกำ กำละ 5-10 บาท ใช้ทั้งกำล้างน้ำให้สะอาดต้มน้ำท่วมยาจนเดือด ดื่มขณะอุ่น 3 เวลาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ครั้งละ 1 แก้ว ต้มกินจนยาจืด ทำกินเรื่อยๆจะช่วยให้น้ำหนักค่อยๆลดลงได้ แต่ไม่ใช่ลดแบบฮวบฮาบ เมื่อน้ำหนักอยู่ ในระดับที่ต้องการแล้ว จะหยุดกินก็ได้ ข้อสำคัญต้องควบคุมอาหารด้วยจะได้ผลดี และเร็ว ไม่ว่าคุณจะใช้สมุนไพรตัวใดเพื่อลดน้ำหนักก็ตาม ควรจะปฏิบัติควบคู่ไปกับการกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้การลดน้ำหนักได้ผลดีขึ้น อย่าจดจ่อกับการใช้สมุนไพรอย่างเดียว เพราะการกินแค่สมุนไพรอาจจะทำให้คุณขาดสารอาหารและเสียชีวิตได้

2. สาหร่ายเกลียวทอง (Spirulina)

สาหร่ายเกลียวทอง (Spirulina)

     สาหร่ายเกลียวทอง สาหร่ายเกลียวทองหรือสาหร่ายสไปรูลิน่า เป็นพืชที่ให้โปรตีนสูง มีวิตามินบี เอ ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง แมงกานีส แคลเซียมมีกรด GLA ซึ่งมีคุณสมบัติลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต แก้สิวฟ้า สาหร่ายสไปรูลิน่ามักอยู่ในรูปแคปซูล หาซื้อง่าย

3. พริกขี้หนู พริกไทย

พริกขี้หนู พริกไทย

     พริก พริกขี้หนู พริกไทย เป็นสมุนไพรที่มีสารแคปไซซิน ที่ช่วยร่างการเผาผลาญไขมันและอาหารเพิ่มขึ้น เมื่อสารอาหารถูกเผาผลาญได้เร็วขึ้นน้ำหนักก็จะลงเร็ว แต่ต้องระวังเพราะอาจจะทำไห้ท้องเสียได้ และการกินเผ็ดจัด ๆ ทำให้เกิดผลร้ายกับกระเพาะ

4. ดอกคำฝอย

ดอกคำฝอย

     ดอกคำฝอย มักจะนำมาทำเป็นชาที่เรารู้จักกันดีว่า ชาดอกคำฝอยมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเลือด บำรุงเลือด ขับเหงื่อและเป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย ปัจจุบันนำมาใช้ในการลดความอ้วนด้วยการชงดื่ม

     เป็นยังไงกันบ้าง สำหรับบทความรวมสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยลดความอ้วน ตอนที่ 1 จริงๆแล้ว พืช ผักใบเขียวที่เราๆ ท่านๆ กินกันอยู่นั่นแหล่ะครับ เป็นสมุนไพรช่วยป้องกันและรักษาโรคได้ แต่บางชนิดต้องสกัดสาร บางชนิดกินแล้วใช้ได้เลย ซึ่งก็ต้องศึกษารายละเอียดของสมุนไพรแต่ละชนิดให้ละเอียดด้วย คราวหน้าจะได้นำเสนอบทความรวมสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยลดความอ้วน ตอนที่ 2 ต่อไป :)


  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

สถานศึกษาแหล่งเรียนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์

สถานศึกษาแหล่งเรียนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์
     อย่างที่ได้กล่าวเกริ่นนำเกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมา ความหมายมาแล้ว ในบทความ แพทย์แผนไทย และ แพทย์แผนไทยประยุกต์ ต่อไปจะได้นำเสนอสถานศึกษา แหล่งเรียนรู้ ที่เปิดการเรียน การสอนทางด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งในปัจจุบัน มีสถานศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตในสาขาการแพทย์แผนไทยมากขึ้น ซึ่งการแพทย์แผนไทยกับการแพทย์แผนไทยประยุกต์ นั้นมีความแตกต่างกันชัดเจน คือ การแพทย์แผนไทย เน้นการวินิจฉัย การรักษา และการจ่ายยา ด้วยหลักการของการแพทย์แผนไทย และจ่ายยาด้วยสมุนไพร เพียงแต่มีข้อจำกัดในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบตะวันตก ซึ่งต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะเช่นเดียวกัน แต่ขึ้นทะเบียนกันคนละประเภทกัน

สถานศึกษา มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาการแพทย์แผนไทย มีดังนี้

  • คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
  • วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก (หลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต สาขาการแพทย์แผนไทยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก หลักสูตรแพทย์แผนไทย 3ปี
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน(วิทยาเขตสกลนคร)
  • สถาบันแพทย์แผนไทยเพ็ญนภา นนทบุรี
  • โรงเรียนภัทรเวชสยาม การแพทย์แผนไทย นนทบุรี

สถานศึกษา มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มีดังนี้

  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพา
  • วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  • สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สนใจศึกษา สอบเข้าเรียนที่สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยไหนก็ลองเลือกๆกันดูได้ ตามใจชอบนะครับ บุคลากรที่จบสาขาการแพทย์แผนไทยกและสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์กำลังเป็นที่ต้องการ :)

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/การแพทย์แผนไทย

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

สถิติบล็อก